Skip to main content

โรงเรียนชุมชนบ้านท่าศิลา

สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสกลนคร เขต 2

ประวัติโรงเรียน


ประวัติโรงเรียน
ประวัติความเป็นมาของโรงเรียน

ประวัติโรงเรียนชุมชนบ้านท่าศิลา

            โรงเรียนนี้แต่ก่อนชื่อว่า “โรงเรียนประชาบาลตำบลส่องดาว 3 (วัดโคกสว่าง)” นายอำเภอเป็นผู้จัดตั้งดำรงอยู่ด้วยเงินช่วยการประถมศึกษาจัดการสอนตามหลักสูตรกระทรวงศึกษาธิการ จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2481 โดยทางการได้ส่งนายสีทา หำสุย มาดำรงตำแหน่งคนแรกตามหนังสือที่ 24/2481 และมีนายแดง หาญธงชัย มาเป็นครูน้อย ในวันแรกของการจัดตั้งมีนักเรียนชาย 26 คนนักเรียนหญิง 19 คน รวม 45 คน สถานที่ใช้สอนศาลาวัด
            ต่อมา ศาลาที่ใช้เป็นสถานที่เรียนชำรุดจำเป็นต้องซ่อมใหม่ จึงขออนุญาตย้ายสถานที่เรียนไปทางอำเภอโดยขอย้ายไปเรียนที่ศาลากลางบ้าน ทางอำเภอจึงอนุญาตตามหนังสือของอำเภอ ที่ 4978/2501 ลงวันที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2501 และได้ย้ายไปเรียนเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2501 ศาลาวัดซ่อมเสร็จจึงได้ย้ายกลับมาเรียนที่เดิม
            ครั้นเมื่อเดือน มีนาคม 2509 นายชำนาญ ยุวบูรณ์ นายกเทศมนตรีนครกรุงเทพได้ออกมาเยี่ยมเยือนชาวบ้านและถือโอกาสมาเยี่ยมโรงเรียน ขณะนั้น ทางโรงเรียนกำลังหาตัวไม้สร้างโรงเรียนซึ่งเป็นอาคารขนาด 3 ห้องเรียนและขอเงินสมทบไป 50,000 บาท นายชำนาญ ยุวบูรณ์ ไม่เห็นชอบท่านให้เปลี่ยนเป็น 5 ห้องเรียนและท่านขอเงินเพิ่มอีก 30,000 บาท รวมเป็น 80,000 บาท โรงเรียนจึงยกโครงขึ้นเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2509 และแล้วเสร็จขึ้นเรียนเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2509 จึงย้ายมาเรียนที่อาคารใหม่เมื่อวันที่ 10 ตุลาคมพ.ศ. 2509
            ครั้นเมื่อวันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2510 นายชัยวัฒน์ ประชุม จึงได้ขออนุญาตเปลี่ยนชื่อโรงเรียนเป็นโรงเรียนบ้านท่าศิลา “ชำนาญราษฎร์บำรุง” เพื่อเป็นการระลึกถึงนายชำนาญ ยุวบูรณ์ ผู้ได้อุปการะโรงเรียนกระทั่งวันที่ 14 ธันวาคม 2510 ทางโรงเรียนจึงได้รับหนังสือของอำเภอที่ สน. 55/4266 ลงวันที่ 6 ธันวาคม 2510 อนุญาตให้เปลี่ยนชื่อใหม่
เป็น "โรงเรียนชุมชนบ้านท่าศิลา"
            ในปี พ.ศ. 2512 ทางโรงเรียนได้ขออนุญาตเปิดทำการสอนชั้นประถมศึกษาตอนปลาย ป. 5-7 และได้รับอนุญาตให้เปิดทำการสอนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ในปีการศึกษา 2513 ตามประกาศขององค์การบริหารส่วนจังหวัดสกลนคร เรื่อง การเปิดประถมศึกษาตอนปลาย ปีการศึกษา 2513 ลงวันที่ 1 พฤษภาคม 2513 โดยใช้ห้องเรียนในอาคารใหม่ แต่ปีการศึกษา 2514 มีห้องเรียนไม่เพียงพอทางโรงเรียนจึงได้จัดห้องเรียนชั่วคราวโดยกั้นห้องชั้นล่างของอาคารเรียน ต่อมา ทางโรงเรียนได้รับงบประมาณปลูกสร้างอาคารเรียนขนาด 8 X 17 เมตร จำนวน 50,000 บาท ประเภทสมทบและได้ลงมือก่อสร้างเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2514 แล้วเสร็จเมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2515
            เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2516 ทางโรงเรียนได้รับงบประมาณ 25,000 บาท ให้สร้างบ้านพักครู 1 หลัง แล้วเสร็จเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2516 ต่อมา ทางโรงเรียนได้รับงบประมาณจากกองทุนฉลากกินแบ่งรัฐบาลจำนวน 240,000 บาท ให้สร้างอาคารเรียนแบบ 017 ขนาด 4 ห้องเรียนเริ่มลงมือก่อสร้างเมื่อวันที่ 27 มกราคม 2516 และตรวจรับเมื่อวันที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2516
            เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2519 เวลาศูนย์ 02.15 น. ผกค. ได้เข้าโจมตีชุดคุ้มครองหมู่บ้านซึ่งตั้งอยู่หลังอาคารเรียนแบบ 017 เป็นเวลา 1 ชั่วโมงทำให้อาคารเรียนแบบ 017 และอาคารอื่นๆได้รับความเสียหายมาก ได้รายงานของบประมาณซ่อมแซมเป็นเงิน 62,600 บาท ซ่อมเสร็จเมื่อเดือน มีนาคม พ.ศ. 2520
            ในปี พ.ศ. 2519 ทางโรงเรียนได้รับงบประมาณก่อสร้างโรงอาหารเป็นแบบพื้นคอนกรีตกว้าง 4.50 เมตร ยาว 17.50 เมตรใช้งบประมาณ 60,000 บาท
            นายชัยวัฒน์ ประชุม ได้ย้ายจากโรงเรียนเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2519 ไปดำรงตำแหน่งครู  4 โรงเรียนสร้างดู่ ทางการได้แต่งตั้งนายจันทร์ ตรีก้อน รักษาการแทนครูใหญ่ตั้งแต่วันที่ 27 ธันวาคม 2519 และในปีนี้เองทางโรงเรียนได้รับเลือกให้เป็นโรงเรียนชุมชน
            ในปี พ.ศ. 2520 ทางโรงเรียนได้รับงบประมาณ 100,000 บาทต่อเติมอาคารเรียนแบบ 017 ลงมือก่อสร้างในวันที่ 8 มิถุนายน 2520 และแล้วเสร็จตรวจรับเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2520
            ในปี พ.ศ. 2527 ได้รับงบประมาณก่อสร้างอาคารอเนกประสงค์แบบ
สปช.205/2526 จำนวนเงิน 824,000 บาท เริ่มลงมือก่อสร้างเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2527 แล้วเสร็จและตรวจรับเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2528
            ปีการศึกษา 2529 ทางโรงเรียนชุมชนบ้านท่าศิลาได้รับอนุญาตให้เปิดสอนชั้นเด็กเล็กจำนวน 1 ห้อง เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2531 นายจันทร์ ตรีก้อน อาจารย์ใหญ่เกษียณอายุราชการ นายสมัย จงกลณีอาจารย์ใหญ่โรงเรียนบ้านชัยชนะ ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งอาจารย์ใหญ่โรงเรียนชุมชนบ้านท่าศิลาแทนคนเดิม เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2531
            ปีการศึกษา 2534 โรงเรียนชุมชนบ้านท่าศิลา ได้รับคัดเลือกเข้าโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษาและทำการสอนทำการเปิดสอน ม. 1 ในปีการศึกษา 2534 ปีแรกที่เปิดสอนมีนักเรียนสมัครเข้าเรียน 45 คน
            ปีการศึกษา 2536 โรงเรียนได้รับงบประมาณค่าที่ดินและสิ่งก่อสร้างจำนวน 1,600,000 บาท เพื่อสร้างอาคารเรียนแบบ สปช. 205/29 จำนวน 1 หลัง 4 ห้องเรียน โดยสร้างแทนอาคารเรียนไม้หลังเก่าเดิม 5 ห้องเรียนที่ถูกรื้อไป และสร้างเสร็จตรวจรับเมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2536
            ปีการศึกษา 2536 โรงเรียนได้รับงบประมาณหมวดค่าที่ดินและสิ่งก่อสร้างอีกจำนวน 120,000 บาท เพื่อสร้างสนามบาสเกตบอล 1 แห่ง การก่อสร้างและเสร็จแล้วและตรวจรับเมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2536
            ปีการศึกษา 2537 โรงเรียนได้รับงบประมาณหมวดที่ดินและสิ่งก่อสร้างจำนวน 1,778,000 บาทเพื่อสร้างอาคารเรียนแบบ สปช. 205/29 จำนวน 1 หลัง 6 ห้องเรียน แล้วเสร็จและตรวจรับเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2537
            ปีการศึกษา 2544 วันที่ 17 ธันวาคม 2544 นายวิเศษ บุญเลิศ อาจารย์ใหญ่โรงเรียนบ้านชัยชนะได้ย้ายมาดำรงตำแหน่งอาจารย์ใหญ่โรงเรียนชุมชนบ้านท่าศิลา ตามคำสั่งที่ 591/2544 และได้ปฏิบัติหน้าที่ตั้งแต่วันที่การแต่งตั้งเป็นต้นมา
            ปีการศึกษา 2549 นายวิเศษ บุญเลิศ ผู้อำนวยการโรงเรียน ย้ายไปดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านสีสุกห้วยโมง ตามคำสั่ง สพท.สน.2 ที่ 153/2549 ลงวันที่ 5 เมษายน 2549 และนายอาทิตย์ จักษุจินดา ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านภูตะคาม ย้ายมาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนนี้ และได้ลาออกจากราชการเพื่อสมัครเลือกตั้งนายกเทศมนตรีตำบลท่าศิลา
            วันที่ 23 พฤศจิกายน 2552 นายชัยวัฒน์ ทิพย์บุญชู ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านท่าวารี ย้ายมาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนชุมชนบ้านท่าศิลา จนถึงวันที่ 30 กันยายน 2565 จึงเกษียณอายุราชการ
            วันที่ 1 ตุลาคม 2565 นายชูทรัพย์ ภาวงศ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านคำก้าว ย้ายมาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนชุมชนบ้านท่าศิลา และได้ลาออกจากราชการเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2567
            วันที่ 1 ตุลาคม 2567 นายกฤษพงศ์ อยู่เย็น ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านสีสุกห้วยโมง ย้ายมาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนชุมชนบ้านท่าศิลา ตามคำสั่ง สพป.สน. 2 ที่ 648/2567 ลงวันที่ 30 กันยายน 2567
            ปัจจุบันมีนายกฤษพงศ์ อยู่เย็น  วุฒิปริญญาโท การศึกษามหาบัณฑิต (กศ.ม.) สาขาวิชาเอกการบริหารการศึกษา มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เป็นผู้อำนวยการโรงเรียน ข้าราชการครูจำนวน 15  คน บุคลากร 4 คน ได้แก่ ครูพี่เลี้ยงเด็กพิการ 1 คน ครูอัตราจ้าง (จ้างเหมาบริการ 1 คน) นักการภารโรง 1 คนและเจ้าหน้าที่ธุรการ 1 คน